Wednesday, June 13, 2007

พิธีสารเกียวโต

พิธีสารเกียวโต หรือ (Kyoto Protocol) พิธีสารเกียวโต เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยประกาศในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC)


ประเทศที่ให้สัตยาบันในพิธีสารนี้จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ โอโซน มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) ซึ่งหากพิธีสารนี้ได้รับการนำไปปฏิบัติและประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้ถึงประมาณ 0.02 - 0.028 องศาเซลเซียสภายในปี 2050


พิธีสารเกียวโต หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า Kyoto Protocol to the United Nations Framework Convention on Climate Change มีการเจรจาครั้งแรกที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคมปี 1997 และเปิดให้มีการลงนามระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 1998 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 1999 และข้อตกลงดังกล่าวก็มีผลบังคับในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ (2005) หลังจากการให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการของประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2004


การให้สัตยาบันของรัสเซียซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 17% ของทั่วโลกนั้นจัดว่ามีความสำคัญมาก เพราะพิธีสารเกียวโตจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน ต่อเมื่อมีประเทศร่วมให้สัตยาบันไม่น้อยกว่า 55 ประเทศ โดยในจำนวนนี้จะต้องมีประเทศพัฒนาแล้วที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมารวมแล้วอย่างน้อย 55% ของปริมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน


เงื่อนไขแรกบรรลุไปเมื่อมีการให้สัตยาบันครบ 55 ประเทศเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2002 ส่วนเงื่อนไขที่สองบรรลุได้ด้วยการยินยอมของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2004 ข้อตกลงนี้ได้รับการให้สัตยาบันจาก 127 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ รัสเซีย และชาติสมาชิกสหภาพยุโรปอีก 25 ประเทศ รวมทั้ง โรมาเนีย และบัลแกเรีย โดยคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ของที่ปล่อยสารทั้งหมด


ขณะที่ประเทศอื่นๆได้ลงนามในพิธีสารไปแล้วแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ได้แก่ ออสเตรเลีย โครเอเชีย อิตาลี ลิคเตนสไตน์ โมนาโก สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้ลงนามแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันได้แก่ อียิปต์ อินโดนีเซีย คาซัคสถาน ฟิลิปปินส์ เซนท์ลูเซีย เซนท์วินเซนท์และเกรนาดีนส์ และหมู่เกาะโซโลมอน


พิธีสารเกียวโตจะไม่มีผลผูกมัดกับประเทศนั้นๆ หากไม่มีการให้สัตยาบันของประเทศดังกล่าว ซึ่งการที่สหรัฐฯ ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกยังไม่มีทีท่าจะให้สัตยาบันในพิธีสารนี้ ก็สร้างความกังวลให้กับประชาคมโลกอยู่ไม่น้อย


ชาติสำคัญที่ให้การสนับสนุนพิธีสารเกียวโตเป็นอย่างมาก คือชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป นอกจากนั้น พิธีสารนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากทั้งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนมาก สหประชาชาติและหน่วยงานที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมอิสระต่างๆ แม้กระทั่งในสหรัฐฯที่ไม่ได้ลงนามก็ยังมีกลุ่มรณรงค์สนับสนุนกดดันให้มีการยอมรับพิธีสารเกียวโต เช่น กลุ่มเกียวโตนาว


อย่างไรก็ตาม ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯและออสเตรเลียก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านสนธิสัญญาดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะบางท่านได้มองพิธีสารเกียวโตว่าเป็นตัวการที่ถ่วงการเติบโตของประชาธิปไตยอุตสาหกรรมโลก(world's industrial democracies) รวมทั้งยังเป็นการทำลายการเติบโตของเศรษฐกิจอีกด้วย


อย่างไรก็ดี พิธีสารเกียวโตมี 3 กลไกที่มุ่งจะช่วยให้ประเทศพัฒนาแล้วบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ได้แก่
1.การดำเนินการร่วมกัน (Joint Implementation หรือ JI)
2.การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading หรือ ET)
3.กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM )


สำหรับสองกลไกแรกเป็นกลไกที่เกิดขึ้นได้ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันเท่านั้น ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยซึ่งได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตแล้วเมื่อ 28 สิงหาคม 2545 เป็นเรื่องของกลไกการพัฒนาที่สะอาดซึ่งเราสามารถเลือกร่วมโครงการได้ตามความสมัครใจ


ส่วนกลไกที่ 3 การพัฒนาที่สะอาดเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ประเทศพัฒนาแล้วบรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามพันธกรณีควบคู่ไปกับการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยประเทศพัฒนาแล้วจะมาลงทุนดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่กำลังพัฒนา แล้วก็จะนำปริมาณก๊าซที่ลดได้จากการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการ CDM มาคำนวณเหมือนว่าได้ดำเนินการลดในประเทศของตนเอง

(ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/)

โอโซน

โอโซนเป็นก๊าซสีน้ำเงินเข้ม พบได้ทั่วไปในบรรยากาศโลก และเป็นอันตรายต่อปอด หากเราหายใจเข้าไปมาก ๆ ก๊าซโอโซนที่อยู่ในบรรยากาศระดับสูงเรียกว่า ชั้นสตราโซเฟียร์ จะจับตัวกันเป็นก้อนโอโซนปกคลุมทั่วโลก ในบางแห่งจะหนา และบางในบางแห่งชั้นโอโซนจะทำหน้าที่ปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ซึ่งรังสีนี้จะทำให้โลกร้อนขึ้น และทำให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิต เช่น ทำให้คนและสัตว์เป็นมะเร็งผิวหนัง ตาเป็นต้อหรือมัวลง และทำให้เกิดการเปลียนแปลงของดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นสารทีถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต มีผลทำให้พืชและสัตว์กลายพันธ์ไปจากเดิม ตลอดจนเกิดการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ และทำลายจุลินทรีย์ต่างๆ ในปี ค.ศ 1974 มาริโอ โมลินา กับเพื่อนร่วมงานชื่อ เชอร์วุ้ด โรว์แลนด์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ ได้ทำการวิจัยพบว่า สารชนิดหนึ่งชื่อว่า สาร CFCs คือตัวการทำลายชั้นโอโซนส่งผลให้เขาและเพื่อนได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมีปี ค.ศ 1995 ในฐานะผู้ค้นพบสาร CFCs เป็นคัวการทำลายชั้นบรรยากาศ








สาร CFCs มีชื่อทางการค้าว่า ฟรีรอน ซึ่งครั้งหนึ่งถือว่าเป็นสารมหัศจรรย์ เพราะไม่ติดไฟ ไม่เป็นพิษต่อผู้สูดดมเข้าไป ไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง จึงมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น ใช้เป็นสารทำให้เกิดความเย็น ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตโฟม พลาสติก ใช้เป็นสารทำลายในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และใช้เป็นสารขับดันในสเปรย์กระป๋อง เช่น สีพ่น สเปรย์ฆ่าแมลง สเปรย์ฉีดผม และอื่นๆ อีกจำนวนมาก







การใช้สารกลุ่ม CFCs มีความสามารถทำลายชั้นบรรยากาศได้เพราะมีคลอรีน (chlorine) เป็นองค์ประกอบในโมเลกุล เมื่อสารนี้ลอยขึ้นไปสู่ชั้นสตราโตสเฟียร์และถูกรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ก็จะแตกตัวทำให้เกิดคลอรีนอิสระ และคลอรีนนี้จะไปทำลายได้โอโซน ทำให้ไม่สามารถที่จะกั้นรังสีอัลตราไวโอเลตได้







ด้วยเหตุแห่งความรุนแรงของสาร CFCs ต่อโอโซนในบรรยากาศของโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ จำนวน 31 ประเทศ ได้ส่งตัวแทนไปประชุมกันที่เมือง มอนทรีออล ประเทศแคนนาดา ในเดือนกันยายน ค.ศ 1987 และได้ร่วมกันจัดตั้งอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการป้องกันบรรยากาศชั้นโอโซน ซึ่งภายใต้อนุสัญญานี้ ได้มีการจัดทำพิธีสารมอนทรีออลขึ้น โดยระบุประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเลิกผลิตและการใช้สารที่ทำลายชั้นโอโซน






พิธีสารมอนทรีออล มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ 1989 โดยประเทศไทยร่วมลงนามในพิธีสารนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ 1988 และให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ 1989 และมีผลบังคับให้ต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ 1989โดยประ จากผลของอนุสัญญาฯ องสค์การสหประชาชาติ จึงได้กำหนดให้วันที่ 16 กันยายนของทุกปี เป็น "วันโอโซนโลก" พิธีสารมอนทรีออล ได้มีการแก้ไขฉบับต่อ ๆ มา ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการผลิต ในอุตสาหกรรมที่ใช้สารพวกนี้ เป็นอย่างมาก สำหรับประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้วางแผนการลดและเลิก ใช้สารทำลายโอโซน โดยคาดว่า ในปี ค.ศ 1998 ประเทศไทยจะสามารถเลิกใช้สารนี้ ได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นการใช้สาร CFCs ในอุปกรณ์ห้องเย็น ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ โดยเฉพาะในส่วนที่เกียวข้องกับการให้บริการเติมน้ำยาแอร์แก่อุปกรณ์เดิม คาดว่าจะเลิก ใช้ทั้งหมดภายในปี ค.ศ 2010 ตามพิธีสารฯ กำหนด




(สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

ก๊าซเรือนกระจก

ก๊าซเรือนกระจกคืออะไรก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) เป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟาเรดได้ดี ก๊าซเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการรักษาอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกให้คงที่ ซึ่งหากบรรยากาศโลกไม่มีก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ดังเช่นดาวเคราาะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะแล้ว จะทำให้อุณหภูมิในตอนกลางวันนั้นร้อนจัด และในตอนกลางคืนนั้นหนาวจัด เนื่องจากก๊าซเหล่านี้ดูดคลื่นรังสีความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วค่อยๆ แผ่รังสีความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศโลกไม่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน








มีก๊าซจำนวนมากที่มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน และถูกจัดอยู่ในกลุ่มก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีทั้งก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญคือ ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน มีเทนและไนตรัสออกไซด์ สารซีเอฟซี เป็นต้น แต่ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกควบคุมโดย พิธีสารเกียวโต มีเพียง 6 ชนิด โดยจะต้องเป็นก๊าซที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ (anthropogenic greenhouse gas emission) เท่านั้น ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ทั้งนี้ ยังมีก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง คือ สารซีเอฟซี (CFC หรือ Chlorofluorocarbon) ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ในการผลิตโฟม แต่ไม่ถูกกำหนดในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากเป็นสารที่ถูกจำกัดการใช้ในพิธีสารมอนทรีออลแล้ว








กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ กำลังเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ (อาจยกเว้นไอน้ำ) การเผาไหม้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การทำการเกษตรและการปศุสัตว์ปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ปล่อยก๊าซโอโซน นอกจากนี้ กระบวนการแปรรูปอุตสาหกรรมปล่อยสารฮาโลคาร์บอน (CFCs, HFCs, PFCs)








การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกนั้น ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศมีความสามารถในการกักเก็บรังสีความร้อนได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือ อุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกนั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นเส้นตรงกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดยังมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก (Global Warming Potential: GWP) ที่แตกต่างกัน ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนี้ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการแผ่รังสีความร้อนของโมเลกุล และขึ้นอยู่กับอายุของก๊าซนั้นๆ ในบรรยากาศ และจะคิดเทียบกับการแผ่รังสีความร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 20 ปี 50 ปี หรือ 100 ปี โดยค่า GWP ของก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในช่วงเวลา 100 ปี ของก๊าซเรือนกระจกต่างๆ เป็นดังนี้

(ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

ภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming คือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกและเหนือน้ำทะเล เป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกวิตกกันอยู่ในขณะนี้ สาเหตุสำคัญคือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งดูดความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ ก่อให้เกิด "ปรากฏการณ์เรือนกระจก" คือความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่สามารถสะท้อนกลับไปสู่ชั้นบรรยากาศได้หมด ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นอีกถึง 90 เซนติเมตรในอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพต่างๆหลายประการ


(รูปจาก http://www.ucsusa.org/)



การเพิ่มขึ้นของอุณหุภูมิโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น
- ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น
- อุณหุภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น
- ธารน้ำแข็งและน้ำแข็งตามขั้วโลกละลาย
- การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำอุ่นและน้ำเย็น
- ปริมาณและรูปแบบของการเกิดฝนและหิมะเปลี่ยนแปลง ทำให้วัฏจักรของน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดน้ำท่วมและความแห้งแล้งขึ้น
- สภาพอากาศอาจแปรปรวนอย่างรุนแรง
- ความชื่นในอากาศเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระเหยของน้ำที่มากขึ้น
- ส่งผลกระทบต่อการเกษตร
- ผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เช่นการสูญพันธุ์ และ ปรากฏการณ์ปะการังฟอกสี
- สุขภาพของมนุษย์ เช่น การเกิดคลื่นความร้อน
- การแพร่กระจายของเชื้อโรค

** การระเบิดของภูเขาไฟ น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฝุ่น เถ้าภูเขาไฟที่ล่องลอยอยู่ในอากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ทำให้บรรยากาศโลกเย็นลง ปรับระดับอุณหภูมิของบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ของโลกที่กำลังร้อนขึ้น แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการเกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำแอลนิโน ที่ทำให้อุณหภูมิในบรรยากาศของโลกสูงขึ้นนั้น ลดต่ำลง