Wednesday, June 13, 2007

พิธีสารเกียวโต

พิธีสารเกียวโต หรือ (Kyoto Protocol) พิธีสารเกียวโต เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยประกาศในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC)


ประเทศที่ให้สัตยาบันในพิธีสารนี้จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำ โอโซน มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) ซึ่งหากพิธีสารนี้ได้รับการนำไปปฏิบัติและประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้ถึงประมาณ 0.02 - 0.028 องศาเซลเซียสภายในปี 2050


พิธีสารเกียวโต หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า Kyoto Protocol to the United Nations Framework Convention on Climate Change มีการเจรจาครั้งแรกที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคมปี 1997 และเปิดให้มีการลงนามระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 1998 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 1999 และข้อตกลงดังกล่าวก็มีผลบังคับในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ (2005) หลังจากการให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการของประเทศรัสเซียเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2004


การให้สัตยาบันของรัสเซียซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 17% ของทั่วโลกนั้นจัดว่ามีความสำคัญมาก เพราะพิธีสารเกียวโตจะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน ต่อเมื่อมีประเทศร่วมให้สัตยาบันไม่น้อยกว่า 55 ประเทศ โดยในจำนวนนี้จะต้องมีประเทศพัฒนาแล้วที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมารวมแล้วอย่างน้อย 55% ของปริมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน


เงื่อนไขแรกบรรลุไปเมื่อมีการให้สัตยาบันครบ 55 ประเทศเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2002 ส่วนเงื่อนไขที่สองบรรลุได้ด้วยการยินยอมของรัสเซียเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2004 ข้อตกลงนี้ได้รับการให้สัตยาบันจาก 127 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ รัสเซีย และชาติสมาชิกสหภาพยุโรปอีก 25 ประเทศ รวมทั้ง โรมาเนีย และบัลแกเรีย โดยคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ของที่ปล่อยสารทั้งหมด


ขณะที่ประเทศอื่นๆได้ลงนามในพิธีสารไปแล้วแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ได้แก่ ออสเตรเลีย โครเอเชีย อิตาลี ลิคเตนสไตน์ โมนาโก สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้ลงนามแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันได้แก่ อียิปต์ อินโดนีเซีย คาซัคสถาน ฟิลิปปินส์ เซนท์ลูเซีย เซนท์วินเซนท์และเกรนาดีนส์ และหมู่เกาะโซโลมอน


พิธีสารเกียวโตจะไม่มีผลผูกมัดกับประเทศนั้นๆ หากไม่มีการให้สัตยาบันของประเทศดังกล่าว ซึ่งการที่สหรัฐฯ ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกยังไม่มีทีท่าจะให้สัตยาบันในพิธีสารนี้ ก็สร้างความกังวลให้กับประชาคมโลกอยู่ไม่น้อย


ชาติสำคัญที่ให้การสนับสนุนพิธีสารเกียวโตเป็นอย่างมาก คือชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป นอกจากนั้น พิธีสารนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากทั้งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนมาก สหประชาชาติและหน่วยงานที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมอิสระต่างๆ แม้กระทั่งในสหรัฐฯที่ไม่ได้ลงนามก็ยังมีกลุ่มรณรงค์สนับสนุนกดดันให้มีการยอมรับพิธีสารเกียวโต เช่น กลุ่มเกียวโตนาว


อย่างไรก็ตาม ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯและออสเตรเลียก็เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านสนธิสัญญาดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะบางท่านได้มองพิธีสารเกียวโตว่าเป็นตัวการที่ถ่วงการเติบโตของประชาธิปไตยอุตสาหกรรมโลก(world's industrial democracies) รวมทั้งยังเป็นการทำลายการเติบโตของเศรษฐกิจอีกด้วย


อย่างไรก็ดี พิธีสารเกียวโตมี 3 กลไกที่มุ่งจะช่วยให้ประเทศพัฒนาแล้วบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ได้แก่
1.การดำเนินการร่วมกัน (Joint Implementation หรือ JI)
2.การค้าขายแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading หรือ ET)
3.กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM )


สำหรับสองกลไกแรกเป็นกลไกที่เกิดขึ้นได้ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันเท่านั้น ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยซึ่งได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโตแล้วเมื่อ 28 สิงหาคม 2545 เป็นเรื่องของกลไกการพัฒนาที่สะอาดซึ่งเราสามารถเลือกร่วมโครงการได้ตามความสมัครใจ


ส่วนกลไกที่ 3 การพัฒนาที่สะอาดเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ประเทศพัฒนาแล้วบรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามพันธกรณีควบคู่ไปกับการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยประเทศพัฒนาแล้วจะมาลงทุนดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่กำลังพัฒนา แล้วก็จะนำปริมาณก๊าซที่ลดได้จากการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการ CDM มาคำนวณเหมือนว่าได้ดำเนินการลดในประเทศของตนเอง

(ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/)

No comments: